เพลงเชิดฉิ่ง – เชิดจีน
ประวัติที่มา
ระบำเชิดจีนเป็นระบำที่ปรมาจารย์ทางนาฎศิลป์ได้ประดิษฐ์ ขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เพลงที่ใช้ประกอบการรำคือ เพลงหน้าพาทย์ เชิดจีน ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงโขนละครมาแต่โบราณและเพลงเชิดจีนตัวที่สามซึ่งหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก) ได้แต่งขึ้นไว้สำหรับการบรรเลงของวงปี่พาทย์ ถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพอพระราชหฤทัยและโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเลื่อนยศเป็นพระประดิษฐไพเราะ
เพลงเชิดจีนทางดนตรีที่พระประดิษฐไพเราะแต่งขึ้นนี้ ต่อมาปรมาจารย์ทางนาฏศิลป์ได้นำเอาทำนองเพลงท่อนที่ 3 ซึ่งเรียกว่า เชิดจีนตัวที่ 3 มาประดิษฐ์ท่ารำประกอบทำนองเพลงให้ต่อเนื่องกับเพลงเชิดฉิ่ง จัดแสดงเป็นระบำชุดเบ็ดเตล็ด ผู้แสดงเป็นตัวนางล้วนแต่งกายนุ่งผ้ายกจีบหน้านาง ห่มสไบตาด สวมกระบังหน้า แสดงครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูฐ ปี พ.ศ. 2479
ผู้ประดิษฐ์ท่ารำระบำเชิดจีน คือ หม่อมครูต่วน (ศุภลักษณ์) ภัทรนาวิก คุณครูลมุล ยมะคุปต์ ต่อมาคุณครูทั้ง 2 ท่าน ได้ปรับปรุงรูปแบบการแสดงชุดนี้ แตกต่างจากที่ประดิษฐ์ในครั้งแรก กล่าวคือ
1. ให้ผู้แสดงแต่งกายยืนเครื่องพระ – นาง
2. เพิ่มเติมท่ารำในเพลงเชิดฉิ่ง
3. จัดรูปแบบในการแปรแถวใหม่
แล้วเรียกชื่อระบำชุดปรับปรุงนี้ว่า “ระบำเชิดจีน (พระ – นาง )” จัดแสดงในงานรับรองแขก ผู้มีเกียรติของรัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม และงานรื่นเริงของหน่วยราชการและเอกชน นับเป็นระบำไทยมาตรฐานที่มีลีลาท่ารำประณีตงดงามและท่วงทำนองก็ไพเราะสอดคล้องสัมพันธ์กับท่ารำอย่างสวยงามชุดหนึ่ง
ระบำเชิดจีนนี้ เป็นการแสดงระบำที่รำเข้ากับทำนองเพลงไม่มีบทร้อง