เพลงเต่ากินผักบุ้ง สองชั้น
เพลงเต่ากินผักบุ้งสองชั้นนี้ เฉพาะทำนองดนตรีเป็นเพลงโบราณ ราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่เดิมใช้บรรเลงอยู่ในเพลงเรื่องประเภทเพลงช้า ซึ่งมีเพลงเต่าเห่ เต่าเงิน เต่าทอง ฯลฯ รวมอยู่ด้วย
ครั้ยมาถึงสมัยที่เกิดความนิยมการร้องเพลงลาในตอนที่จะจบการเล่นเสภาเห็นจะราว ๆ สมัยปลายบรัชกาลที่ 3 หรือต้นรัชกาลที่ 4 จึงมีอาจารย์ผู้สามารถในการแจ่งเพลงร้อง นำเอาเพลงเต่ากินผักบุ้งสองชั้นนี้ มาแต่งเป็นทำนองร้องขึ้น โดยประดิษฐ์ทำนองให้มีทั้งดอกและสร้อย ท่อนหนึ่งร้องอย่างทำนองสามัญไม่มีพลิกแพลงอย่างใด ท่อนสองร้องเป็นสองเที่ยว เที่ยวแรกร้องอย่างธรรมดา แต่เที่ยวที่สองร้องเป็นดอกซึ่งเมื่อดนตรีรับ ก็จะต้องใช้เครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง (ในวงปี่พาทย์ใช้ปี่ใน) บรรเลงเลียนเสียงและถ้อยคำที่ร้องดอกนั้นให้ละม้ายที่สุดเรียกว่า "ว่าดอก" และวิธีบรรเลงดนตรีรับ ต้องบรรเลงเที่ยวว่าดอกเสียก่อนแล้วจึงบรรเลงเที่ยวธรรมดากลับกันกับการ้อง ส่วนท่อนสามวิธีร้องและบทประพันธ์เป็นสร้อยตลอดทั้งท่อน แต่การบรรเลงรับเป็นอย่างสามัญ นับได้ว่าเพลงเต่ากินผักบุ้งสองชั้นนี้ เป็นเพลงลาที่มีสร้อยมีดอกก่อนเพลงใด ๆ ในแบบนี้ และได้รับความนิยมแพร่หลายมาจนปัจจุบันนี้ แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ไม่ทราบว่าท่านใดเป็นผู้แต่งทำนองดนตรีของเดิมและทำนองร้องที่นิยมใช้กันอยู่นี้
ที่มา : ฟังและเข้าใจเพลงไทย โดยมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย กรมศิลปากร และวิเชียร กุลตัณฑ์ (สำนักดนตรีไทยพระยาประสานดุริยศัพท์) (แปลก ประสานศัพท์)
เพลง เต่ากินผักบุ้ง สองชั้น บรรเลงโดยนักศึกษาและคณาจารย์ เอกวิชาดนตรีไทย สาขาวิชาดนตรีศึกษา ภาควิชาดุริยางคศิลป์ศึกษา คณะศิลปศึกษา
Facebook Page : ภาควิชาดุริยางคศิลป์ศึกษา คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
Facebook Page : คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์