"สก. กนกนุช" แจงตัดงบจ้างที่ปรึกษา-เครื่องวัดแรงสั่นบนตึกสูง ชี้โครงการรายละเอียดไม่ชัดเจน
คลิปไวรัลในโลกโซเชียล ดรามา ประเด็นกรรมการวิสามัญงบประมาณกรุงเทพมหานคร ปี 2568 ตัดงบประมาณจ้างที่ปรึกษาประเมินความเสี่ยงในอาคารสูงของกรุงเทพมหานคร กรณีเกิดแผ่นดินไหว ที่ทางทีมผู้บริหารกทม.เสนอ เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว (ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว) ถูกนำกลับมาโพสต์อีกครั้ง จนหลายคนลงความเห็นว่า ผู้ว่าฯชัชชาติผู้มาก่อนกาล
นี่เป็นเหตุผลที่ 2 สก. ที่ได้อภิปรายตีตก ในการตัดงบประมาณเกี่ยวกับการจ้างที่ปรึกษาประเมินความเสี่ยง โดยเป็นการทำเครื่องตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนของอาคาร หากเกิดแผ่นดินไหว ในกรุงเทพมหานคร
ที่ทางทีมผู้บริหารกทม.เสนอ ซึ่งมีทั้งเหตุผล กทม.ไม่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหวมากกว่า พื้นที่ภาคเหนือ และ ให้สำนักโยธา เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคารสูง อีกทั้งผู้รับเหมาโครงการก็ต้องปฏิบัติตาม TORอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีที่ปรึกษา
ซึ่งวันนั้น ผู้ว่าฯชัชชาติ ก็ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า ยืนยันมีความจำเป็น คิดรอบแล้ว คุ้มค่า ไม่ได้ฟุ้มเฟือย คุณภาพการก่อสร้างต้องได้มาตรฐาน หากเมื่อก่อสร้าง เหล็กถูกเทคอนกรีตทับไปแล้ว ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่ในเมื่อที่ประชุมไม่อนุมัติก็เคารพการตัดสินใจ
ขณะที่การประชุมสภาฯกทม.ช่วงบ่ายวันนี้ คุณกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง จากพรรคเพื่อไทยได้ ลุกขึ้นชี้แจง ว่า เพื่อนสมาชิกทุกคนเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหว และไม่อยากจะเชื่อว่า เหตุแผ่นดินไหวนี้จะเกิดขึ้นที่ประเทศไทย
ทำให้ตอนนี้หลายคนพูดถึงโครงการจ้างที่ปรึกษาประเมินแรงต้านทานแผ่นดินไหวตึกสูงในพื้นที่กทม. และมีการนำคลิปแชร์โลกโซเชียล ซึ่งคลิปดังกล่าว ถือว่าสร้างความเสียหายให้กับสภากรุงเทพมหานคร เรื่องนี้เกิดขึ้น เป็นช่วงที่ตนเอง นั่งเป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญ พิจารณางบประมาณปี 2568 ดังนั้นตนเอง จึงต้องรายงานทุกโครงการ ทั้งที่ผ่านการพิจารณาและไม่ผ่านการพิจารณาของกรรมการ และอนุกรรมการ
คุณกนกนุช กล่าวว่า เหตุผลที่คณะอนุกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาตัดงบโครงการนี้ เนื่องจาก ไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุม เนื้อหาทีโออาร์ ยังขาดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ว่า จะนำผลการประเมินมาใช้ ปฏิบัติจริงอย่างไร คณะกรรมการจึงเกรงว่า จะไม่เกิดประโยชน์
ขณะเดียวกันคณะกรรมการยังเห็นว่า ในเอกสารของโครงการ ระบุเพียงอย่างเดียว คือ การจ้างที่ปรึกษา เช่นเดียวกับเนื้อหา ลักษณะงาน ก็เป็นการจ้างที่ปรึกษาเช่นกัน ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับ ก็ระบุ เพียงการรายงานข้อมูล
และยังพบว่า การขอใช้งบประมาณ 9 ล้านบาท ใช้ในส่วนของบุคลากรเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 3.5 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือน 3 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการสำรวจและวิเคราะห์ผล 2.4 ล้าน ค่าจัดทำรายงาน 7.9 หมื่น รวมแล้ว 9 ล้านบาท
สิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการวิสามัญพบ คือตัวเครื่องที่ใช้ตรวจวัดก็ยังไม่มีขาย ต้องประดิษฐ์ขึ้นมา และต้องติดตั้งเครื่อง ในอาคารสูงของกทม. และเครื่องที่จะติดตั้งนี้ ไม่ใช่ติดตั้งแล้วจะบอกว่าอีก 5 นาทีแผ่นดินจะไหว หรืออีก 3 นาทีแผ่นดินจะไหว แต่เป็นเครื่องที่วัดการสั่นสะเทือนหลังแผ่นดินไหวแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง หากเกิดแผ่นดินไหว ทุกคนต้องเอาตัวรอด ไม่มีใครที่จะวิ่งไปดูตัวเครื่องว่าแรงสั่นสะเทือนเท่าไหร่
ดังนั้นต้องชี้แจงกับสังคมว่า การพิจารณางบประมาณดูจากเอกสาร ซึ่งผ่านความเห็นของอนุกรรมการฝ่ายโยธาแล้ว
พร้อมย้ำว่า ส่วนเครื่อง ไม่ใช่เครื่องเตือนแผ่นดินไหว แต่เป็นเครื่องวัดการสั่นสะเทือนในอาคารสูงของกทม. หลังเกิดแผ่นดินไหวแล้ว ดังจึงต้องใช้งบประมาณอย่างรอบคอบและเป็นประโยชน์สูงสุด
ด้าน คุณวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม.ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า เป็นเครื่องมือวัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นงานวิจัยของกลุ่มอาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้คำตอบว่า ตึกสูงโดยเฉพาะโรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องอพยพ เคลื่อนย้ายและสามารถอยู่ได้หรือไม่
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : https://ch3plus.com/news/social/ruangden/436499
-------------------
เรื่องเด่นเย็นนี้ วันที่ 2 เมษายน 2568
ออกอากาศ ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ 16.30 - 18.00 น.
#เรื่องเด่นเย็นนี้ (Ruangden News )
ติดตามความเคลื่อนไหวข่าวสารก่อนใครได้ที่นี่
ch3plus : https://ch3plus.com
facebook : https://www.facebook.com/3Plusnews
Twitter : https://twitter.com/3Plusnews
YouTube : https://www.youtube.com/c/3PlusNews
Tiktok : https://www.tiktok.com/3plusnews