แสดงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๕
ชุดการแสดงที่๔
ประวัติและความเป็นมา
เพลงพญาโศกอัตราจังหวะสองชั้น ทำนองเก่าสมัยอยุธยา เป็นเพลงลำดับแรกในเพลงเรื่องพญาโศกซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๖ เพลงคือ เพลงพญาฝัน พญาโศก ท้ายพญาโศก พญาตรีก พญารำพึง และพญาครวญ บางที่ก็แยกออกมาใช้เป็นเพลงร้องประกอบการบรรเลงมโหรี และการแสดงโขนละครในบทที่แสดงอารมณ์เศร้าสลดระหว่างนั่งหรือนอน หรืออยู่กับที่รำพึงถึงความทุกข์ยากหรือสูญเสียสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ พระประดิษฐไพเราะ (มีดุริยางกูร) ได้แต่งขยายขึ้นเป็นอัตราจังหวะสามชั้น สำหรับใช้เป็นเพลงบรรเลงและขับร้องในวงมโหรีและวงปี่พาทย์ แล้วจึงประดิษฐ์เป็นเพลงเดี่ยวขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งดุริยางคศิลปินได้ยึดถือเป็นแบบฉบับสำหรับเดี่ยวด้วยเครื่องดนตรีทุกชนิดสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้
เดี่ยวขลุ่ยเพียงออเพลงพญาโศกในครั้งนี้ เป็นทางที่อาจารย์รังสี เกษมสุข ได้รับการถ่ายทอดมาจากอาจารย์บุญช่วยโสวัตร ศิษย์เอกของครูเทียบ คงลายทองในการประกวดรางวัลพระราชทานฆ้องทองคำครั้งที่ ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ อาจารย์รังสี เกษมสุข ได้ถ่ายทอดให้ อาจารย์จรัญ กาญจนประดิษฐ์ ในการประกวดเดี่ยวขลุ่ยเพียงออระดับประชาชน ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ต่อมาจึงได้ถ่ายทอดให้กับนายอนุสรณ์ รุ่งเช้า นักศึกษาสาขาวิชาดนตรีไทยชั้นปีที่ ๔ คณะศิลปกรรมศาสตร์ม หาวิทยาลัยขอนแก่น
ส่วนทางร้องเป็นทางของอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน (ศิลปินแห่งชาติ) ซึ่งอาจารย์จตุพร สีม่วง ได้รับการถ่ายทอดไว้ และได้ต่อให้นางสาวจีรวรรณ สอนสะอาด นักศึกษาสาขาวิชาดนตรีไทยชั้นปีที่ ๔ คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ขับร้อง