ในศุภดิถีมหามงคลสมัย ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ ๓ รอบบริบูรณ์ ณ วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๓ กรมศิลปากรกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้มอบให้ข้าพเจ้าแต่งเพลงโหมโรง ชื่อเพลง เทิด ส.ธ. เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายในพระราชวโรกาสนี้
ข้าพเจ้าก็คิดว่าจะนำเพลงอัตรา ๒ ชั้นของเก่ามาแต่งขยายขึ้น ตามแบบที่โบราณจารย์ท่านได้กระทำมา แต่ในวโรกาสอันสำคัญและชื่อเพลงบ่งถึงการเทิดพระนามาภิไธยเช่นนี้ เพลง ๒ ชั้นที่จะนำมาแต่งขยาย ควรจะเป็นเพลงที่มีคุณสมบัติและศักดิ์ศรีที่เหมาะสม จึงได้นึกถึงเพลงเก่าคู่หนึ่ง ชื่อเพลงเชิญเหนือและเชิญใต้ เพลงคู่นี้ ภายหลังครูผู้ทรงคุณวุฒิในสมัยโบราณได้นำมาปรับเข้ากับหน้าทับตะโพนกลองแบบเพลงตระ เรียกว่าเพลงตระเชิญ บรรเลงต่อกันทั้ง ๒ เพลง อันการบรรเลงเพลงตระที่ใช้เป็นหน้าพาทย์ เช่น เพลงตระนิมิต ตระนอน ตระสันนิบาต ฯลฯ จะต้องบรรเลงซ้ำ ๒ เที่ยว แต่การบรรเลงเพลงตระเชิญ บรรเลงเที่ยวเดียว ไม่ต้องบรรเลงซ้ำ ๒ เที่ยว เพราะว่าเพลงตระเชิญบรรเลงตามเพลงเชิญเหนือถือเป็นเที่ยวหนึ่ง และบรรเลงตามเพลงเชิญใต้ ซึ่งถือเป็นการบรรเลงซ้ำอีกเที่ยวหนึ่ง จึงไม่ต้องบรรเลงซ้ำ หรือกลับต้นอีกครั้ง เหมือนเพลงตระอื่น ๆ
ข้าพเจ้าได้นำเพลงเชิญเหนือกับเชิญได้ หรือเพลงตระเชิญนี้มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และนำเพลงสังข์น้อยจากเพลงเรื่องทำขวัญหรือเวียนเทียนมาขยายขึ้นเป็นเพลงต่อท้ายตามแบบแผนโหมโรงเสภาโบราณ ซึ่งเพลงตระเชิญและเพลงสังข์น้อยเป็นเพลงอันสูงศักดิ์ เป็นเพลงสิริมงคลทั้งคู่ เหมาะกับกรณีนี้เป็นอย่างยิ่ง
การแต่งเพลงนี้ ข้าพเจ้าพยายามที่จะให้มีทางต่าง ๆ ทั้งทางพื้น ทางกรอ และลูกขัดระคนกัน โดยเริ่มต้นแต่งที่บ้านพักบริเวณพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ไปสำเร็จลงที่พุเตย จังหวัดกาญจนบุรี กลับมาตรวจทานที่บ้านจังหวัดนนทบุรีอีกครั้ง