กริชรามันห์เกียรติแห่งมลายู เอกลักษณ์สกุลช่างปัตตานีโบราณจารึกไว้ในแผ่นดิน(จารึกไว้ในแผ่นดิน18พย.66)
รายการจารึกไว้ในแผ่นดิน ตอนที่ 12
ออกอากาศ
วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2566
เวลา 13.30-14.00 น.
ทางททบ.5
ดูย้อนหลัง : https://www.youtube.com/channel/UCaTX19C-4maSx2gXiZyvz5A
รายการจารึกไว้ในแผ่นดิน รายการที่บันทึกทุกเรื่องราวของความเป็นมา
ในถิ่นไทย ทุกๆที่ ที่เราไปล้วนมีความทรงจำและเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของชาติ
พูดถึง กริช เราจะนึกถึงศาสตราวุธในสมัยโบราณ ซึ่งในปัจจุบันไม่นิยมใช้เป็นอาวุธกันแล้ว แต่กริชก็ยังคงคุณค่าและมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับผู้ครอบครอง เพราะการทำกริชขึ้นมาได้จะต้องอาศัยความชำนาญในศิลปะหลายแขนง และมีการทำกริชเฉพาะในภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น เราจะไปรู้จักกับ
กริชรามันห์ ซึ่งเป็นกริชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตามสกุลช่างปตานีโบราณ
กริช เป็นอาวุธประจำกายของชาวมลายูโบราณที่มีลักษณะเป็นมีดสั้น ใบมีดปลายเรียวแหลม มีทั้งแบบใบมีดคดและแบบใบมีดตรง กล่าวกันว่า กริชที่สมบูรณ์นั้น จะมีความแหลมคมประดุจเขี้ยวเสือ มีความคดประดุจเปลวไฟ อันแสดงถึงความกล้าหาญและมีอำนาจ ชาวมลายูเชื่อว่ากริชเป็นอาวุธมงคลที่จะสามารถขจัดภยันตรายให้แก่เจ้าของกริชได้ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างปัจจุบัน พบว่ามีการทำกริช 2 รูปแบบ จาก 2 พื้นที่ คือ หัวกริชจะนะหรือสงขลา กับ หัวกริชปัตตานีหรือพังกะ
ในอดีต กริช เป็นอาวุธประจำกายของชาวชวาและมาเลเซีย เป็นที่นิยมใช้กันในประเทศใกล้เคียง ได้แก่ บรูไน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม รวมถึงชาวพุทธและชาวมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างของไทยด้วย ซึ่งก็หมายถึงทั้งหมดในคาบสมุทรมลายูนั่นเอง โดยกริชเป็นอาวุธที่พบมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรโบราณ มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของกริชเรื่อยมา
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของกริช นอกจากจะบ่งบอกถึงความเชื่อและวัฒนธรรมของคนในแต่ละยุคสมัย ยังสามารถบอกเล่าได้ถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรมลายู สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองการปกครองของดินแดนในแถบนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะด้ามกริชหรือหัวกริชที่มีการสลักลวดลายไว้อย่างวิจิตรบรรจง จะแฝงไว้ด้วยความหมายเชิงในเชิงสัญลักษณ์ ที่บ่งบอกได้ทั้งความเป็นชายชาตรี ฐานะความร่ำรวย การยอมรับและยศศักดิ์ของเจ้าของกริช และในบางครั้งสามารถใช้กริชในการแสดงตัว แทนเจ้าของได้อีกด้วย